
การเยี่ยมชมศาลเจ้าชินโต
คุณทราบหรือไม่ว่าศาลเจ้า (ชินโต) กับวัด (พุทธ) เป็นสถานที่ต่างศาสนากัน และการเข้าไปเยี่ยมชมก็มีวิธีการที่เหมาะสมแตกต่างกัน? ลองมาทบทวนวิธีการเข้าไปเยี่ยมชมแต่ละสถานที่กันหน่อยดีไหม
โค้งคำนับเล็กน้อยหน้าประตูโทริอิ
ทีแรก เมื่อไปถึงประตูโทริอิซึ่งเป็นทางเข้าหลักสู่ศาลเจ้าให้คำนับหนึ่งครั้ง เพราะถือว่าอีกด้านของประตูโทริอิเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วยืดตัวกลับขึ้นมาเพื่อแสดงความเคารพต่อคามิ เทพเจ้าชินโต
ทำความสะอาดตนเองที่เทมิซูยะ (สถานีชำระล้าง)
ต่อไป ให้มาแวะที่เทมิซูยะเพื่อล้างมือและปาก ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อชำระร่างกายของคุณให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าไปในอาคารหลักของศาลเจ้า โดยมีขั้นตอนคล้ายคลึงกับการเข้าไปในวัดของศาสนาพุทธ ดังต่อไปนี้:
-
ใช้มือขวาจับกระบวยตักน้ำไปรดมือซ้าย
-
ต่อไปให้ใช้มือซ้ายจับกระบวยตักน้ำไปรดมือขวา
-
ถือกระบวยด้วยมือขวา แล้วตักน้ำใส่อุ้งมือซ้าย เทน้ำใส่ปาก ล้างปาก โดยไม่ทำให้เกิดเสียงดัง (อย่ายกกระบวยขึ้นจ่อปากโดยตรง)
-
ใช้มือขวาจับกระบวยตักน้ำไปรดมือซ้าย
-
สุดท้ายให้ล้างกระบวย โดยตั้งกระบวยขึ้นเพื่อให้น้ำในกระบวยไหลลงมาล้างด้ามจับ นำกระบวยกลับไปคืนในตำแหน่งเดิม
-
-
เดินตามเส้นทางไปยังอาคารหลักของศาลเจ้า
อาคารหลักของศาลเจ้าเป็นที่สถิตย์ของคามิ ในศาลเจ้าของศาสนาชินโตเชื่อกันว่าเทพเจ้าจะเดินไปตามเส้นกึ่งกลางของทางเดิน ดังนั้นในขณะมุ่งหน้าไปยังอาคารหลักของศาลเจ้า คุณจึงควรหลีกเลี่ยงการเดินในแนวกึ่งกลางทางเดิน
บริจาคไซเซ็น (บริจาคเงิน) หน้าอาคารหลักของศาลเจ้า
สุดท้ายก็ถึงเวลาสักการะ ก่อนอื่น ให้โค้งคำนับไปทางอาคารหลักของศาลเจ้าแล้วบริจาคเงินลงในกล่องไซเซ็น ไซเซ็นเป็นการแสดงการสำนึกในบุญคุณต่อคามิ ไม่มีการกำหนดว่าคุณควรบริจาคเป็นเงินเท่าไหร่
-
สั่นกระดิ่ง
เสียงของกระดิ่งจะเรียกความสนใจของคามิ
-
“คำนับ 2 ครั้ง, ตบมือ 2 ครั้ง, คำนับ 1 ครั้ง”
คำนับลงไปให้ต่ำสองครั้ง (เพื่อแสดงความเคารพต่อคามิ)
ตบมือเข้าหากันบริเวณด้านหน้าของหน้าอก โดยให้มือขวาอยู่ต่ำกว่ามือซ้ายเล็กน้อย ตบมือเช่นนี้สองครั้งแล้วอธิษฐาน หลังอธิษฐานเสร็จให้ลดมือลง คำนับอีกครั้ง แล้วออกจากสถานที่
โค้งคำนับที่ประตูโทริอิ
หลังจากผ่านประตูโทริอิออกไปแล้วให้หันหลังกลับไปทางอาคารหลักของศาลเจ้า แล้วโค้งคำนับเป็นครั้งสุดท้าย
นี่คือวิธีการเข้าเยี่ยมชมศาลเจ้าอย่างถูกต้อง
※ “คำนับ 2 ครั้ง, ตบมือ 2 ครั้ง, คำนับ 1 ครั้ง” คือ วิธีปฏิบัติที่แพร่หลายที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม บางศาลเจ้าอาจมีธรรมเนียมเฉพาะ